การนอนกรนพบได้บ่อยอย่างที่เราทราบกันดี นอกจากการกรนนั้นจะรบกวนคนข้างเคียงแล้วการกรนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

เนื่องจากอาการกรนอาจเป็นอาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea) โรคนี้เกิดจากการที่ระบบหายใจส่วนบนมีการอุดกั้น ทำให้ไม่มีลมหายใจผ่านเข้าออก โรคนี้พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบในผู้ชายประมาณ 4% และผู้หญิงประมาณ 2% เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงเชื่อว่าลดการเกิดโรคนี้ ทำให้หลังวัยหมดประจำเดือนแล้วโอกาสเกิดโรคนี้ของผู้หญิงและผู้ชายจึงกลับมาเท่าๆกัน ในเด็กนั้นพบโรคนี้มากในช่วงอายุ 3-5 ปี และลดลงในช่วงเข้าวัยรุ่น จากนั้นโอกาสเกิดโรคจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าวัยกลางคน เมื่อเทียบกับชนชาติอื่นแล้ว ชนชาติเอเชียพบว่าเป็นโรคนี้มากกว่าคนผิวขาว สงสัยกันว่าที่คนเอเชียเป็นโรคนี้กันมากเนื่องจากโครงสร้างของกระดูกขากรรไกรที่เล็กและค่อนไปทางด้านหลังซึ่งทำให้ช่องการหายใจแคบ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคนี้ได้แก่ น้ำหนักมาก, ขนาดคอใหญ่ (มากกว่า 17 นิ้วในผู้ชายและ 16 นิ้วในผู้หญิง), ลิ้นใหญ่, เพดานอ่อนต่ำ หรือลิ้นไก่ใหญ่, กระดูกคางที่เล็กหรือค่อนไปด้านหลัง, ลักษณะผิดปกติของโครงสร้างจมูก เช่น ลักษณะของจมูกที่แคบ, แผ่นกั้นจมูกเบี้ยว, เนื้องอกในจมูก, กระดูกอ่อนในจมูกใหญ่ หรือ อาการคัดจมูกเรื้อรัง, โรคบางโรค เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย, โรคความผิดปรกติในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ, โรคเส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน, ภาวะหมดประจำเดือน เป็นต้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงในเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ได้แก่ ต่อมทอนซิลหรือ ต่อมอะดีนอยโต หรือ เนื่องจากโรคทางพันธุกรรมที่มีผลต่อโครงสร้างของหน้า เช่น Down syndrome ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เด็กมีคางที่เล็ก และลิ้นใหญ่ 

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดการบวมของเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ก็สามารถเพิ่มโอกาสการเกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจส่วนบน, การดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไปยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อหายใจส่วนบน ทำให้มีโอกาสยุบตัวได้ง่าย และยาบางกลุ่ม เข่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับบางตัว ยากลุ่มมอร์ฟีน ซึ่งไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนบน ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี้เช่นกัน

อาการของโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นอกจากอาการกรนแล้ว อาการอื่นที่พบได้แก่ ประวัติหยุดหายใจจากญาติหรือคู่นอน, อาการง่วงนอนตอนกลางวัน, อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะตอนเช้า, ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือ ตื่นขึ้นมาด้วยอาการหายใจไม่ออก อาการง่วงนอนตอนกลางวันเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด แต่บางคนอาจไม่มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันแต่กลับมีอาการนอนไม่หลับก็ได้ โดยเฉพาะในผู้หญิง อาการอื่นที่อาจพบ ได้แก่ อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, อาการซึมเศร้า, อาการกรดไหลย้อน, อาการนอนหายใจอ้าปาก, อาการรู้สึกไม่สดชื่นหรือความจำไม่ดีและอาการนอนดิ้นมากผิดปกติ ในเด็กอาจพบอาการสมาธิสั้น (attention deficit) ปัสสาวะรดที่นอน (โดนเฉพาะถ้าเพิ่งมามีอาการปัสสาระรดที่นอนหลังจากที่ปลอดอาการปัสสาวะรดที่นอนมาแล้วกว่า 6 เดือน) ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ จำเป็นต้องตรวจด้วยการตรวจการนอนหลับ (overnight polysomnogram หรือ sleep study) ซึ่งคนไข้จะต้องมานอนเพื่อตรวจการนอนหลับในตอนกลางคืน ซึ่งบรรยากาศของการตรวจจะพยายามทำให้เหมือนการนอนหลับที่บ้านที่สุด คนไข้จะมาที่แล็ปประมาณ 8-9 โมงเย็น เจ้าหน้าที่ห้องแล็ปจะทำการติดอุปกรณ์การตรวจ และคนไข้ก็จะนอนหลับอย่างธรรมดาเหมือนอย่างที่นอนที่บ้านจนกระทั่งตื่นตอนเช้าเป็นอันสิ้นสุดการตรวจ ส่วนคนที่ทำงานกะกลางคืนแล้วปกตินอนกลางวันก็จะแนะนำให้ตรวจการนอนหลับในช่วงกลางวันซึ่งเป็นเวลาปรกติที่คนไข้นอน หลังจากสิ้นสุดการตรวจการนอนหลับ แพทย์จะอ่านผลตรวจด้านการนอนและออกรายงานผล ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ก็ควรได้รับการรักษา เพราะโรคนี้พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, โรคความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน, โรคหัวใจวาย, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคเส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตก, โรคซึมเศร้า, โรคกรดไหลย้อน, โรคเสื่อมสรรถภาพทางเพศ หรือ แม้แต่โรคเบาหวาน ก็พบว่าอาจมีความเกี่ยวข้อง สาเหตุที่ทำให้โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ทำให้เกิดโรคต่างๆเหล่านี้ก็เนื่องจากคนที่เป็นโรคนี้นั้นเกิดจากการที่มีการอุดกั้นของระบบทางเดินหายใจส่วนบนทำให้ร่างกายพยายามเพิ่มกำลังออกแรงเพื่อเปิดท่อทางเดินหายใจที่ถูกอุดกั้นนั้น การที่ร่างกายต้องทำงานมากกว่าปรกตินี้กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว, ความดันเพิ่มขึ้น และ กล้ามเนื้อหายใจทำงานมากขึ้น ซึ่งการที่ร่างกายต้องทำงานมากกว่าปกติเช่นนี้ก็ทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี oxidative stress ส่งผลกระทบต่อร่างกาย นอกจากนี้เนื่องจากคนไข้มีมักมีอาการง่วงนอน อ่อนเพลีย ทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือขณะปฏิบัติงาน หลังจากพูดถึงความน่ากลัวของโรคนี้แล้ว มาพูดถึงข้อดีของโรคนี้บ้างนั่นคือโรคนี้ส่วนใหญ่สามารถรักษาได้โดยวิธีการรักษาได้แก่ 

1. การใช้เครื่องอัดอากาศอย่างบวก (continuous positive airway pressure หรือ CPAP) วิธีนี้ถ้าเทียบกับทุกวิธีแล้ว ได้ผลดีที่สุดคือเกือบ 100% หลักการคือเครื่องจะอัดอากาศต่อเนื่องเพื่อถ่างท่อทางเดินหายใจส่วนบนให้เปิดออก เครื่องนี้มีการพัฒนามากจนมีขนาดเล็กกระทัดรัด สามารถพกพาได้สะดวก และเป็นที่ใช้อย่างแพร่หลาย แต่คนที่เลือกที่จะรักษาด้วยวิธีนี้ต้องยอมรับว่าต้องใช้เครื่องนี้ทุกครั้งที่หลับแม้ว่าจะเป็นการแอบงีบตอนกลางวัน เนื่องจากโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น นี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่คนคนนั้นนอนหลับ

2. การผ่าตัด

2.1 การผ่าตัดเพดานอ่อน (uvulopalatopharyngoplasty หรือ UPPP) โดยการผ่าตัดนั้นจะทำโดยการตัดเพดานอ่อน ต่อมทอลซิล ลิ้นไก่ เพื่อทำให้ช่องหายใจกว้างขึ้น การผ่าตัดนี้ได้ผลประมาณ 40 % แต่ถ้าคนไข้อ้วนหรือเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับรุนแรง วิธีนี้อาจไม่ได้ผล แต่ผิดกับในกรณีของเด็ก การรักษาโดยใช้วิธีการผ่าตัดต่อมทอลซิลและต่อมอดีนอยด์ (adenotonsillectomy) ได้ผลดีถึง 80 – 90 % เนื่องจากเด็กที่เป็นโรคนี้มักมีสาเหตุจากการที่มีต่อมทั้งสองโตผิดปกติ ส่วนในผู้ใหญ่การตัดต่อมทั้งสองมักจะไม่ได้ผล

2.2 การผ่าตัดกราม (maxillomandibular advancement) หลักการคือการตัดกระดูกขากรรไกร แล้วเลื่อนไปข้างหน้า ถือว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ จะต้องนอนพักอยู่โรงพยาบาลหลายวัน ขณะที่การผ่าตัดเพดานอ่อนนั้นถือเป็นการผ่าตัดเล็กส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกันหรือไม่กี่วันหลังจากการผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดกรามนั้นคือถ้าได้รับการผ่าตัดจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญพบว่าได้ผลดีมากถึง 90 %

2.3 การผ่าตัดจมูก (nasal surgery) การผ่าตัดนี้แม้จะได้ผลค่อนข้างดีในการรักษาการกรน แต่ไม่ค่อยจะได้ผลในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เนื่องจากจุดที่มีการอุดกั้นมักเกิดในคอมากกว่าในจมูก

3.อุปกรณ์ทันตกรรม (oral appliance) ซึ่งต้องทำโดยทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยอุปกรณ์นี้จะดึงขากรรไกรไปด้านหน้าเพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น โดยทั่วไปจะได้ผลดีในกรณีที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่ไม่รุนแรง ในผู้ป่วยที่ไม่อ้วน และผู้ป่วยที่มีอาการมากในท่านอนหงาย

4. การนอนตะแคง เวลาเรานอนหงาย แรงโน้มถ่วงโลกก็จะทำให้เนื้อเยื่อหล่นลงมาอุดการหายใจได้ง่าย ทำให้คนที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น มักจะพบว่าเป็นมากที่สุดเวลานอนหงาย บางคนถ้าผลการตรวจการนอนหลับพบว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นไม่รุนแรงและเป็นเฉพาะช่วงนอนหงาย อาจรักษาโดยวิธีหลีกเลี่ยงการนอนหงาย เช่น วิธีลูกเทนนิส โดยให้ใส่เสื้อที่มีกระเป๋าด้านหน้าโดยใส่กลับหลังให้กระเป๋าไปอยู่ด้านหลัง โดยในกระเป๋านั้นให้ใส่ลูกบอลขนาดประมาณลูกเทนนิส แล้วเย็บปิดไว้ แล้วใส่เสื้อนี้เวลานอน

5. การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย การลดน้ำหนักที่จะสามารถรักษาโรคนี้ได้หรือทำให้ดีขึ้น ควรจะอย่างน้อย 10 % ของน้ำหนักร่างกาย เช่น คนน้ำหนัก 80 กิโลกรัม ก็ควรลดน้ำหนักอย่างน้อย 8 กิโลกรัม

6. การหยุดสูดบุหรี่ หยุดดื่มเหล้า และหยุดใช้ยา ที่มีผลลดการทำงานของกล้ามเนื้อควบคุมระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่นยานอนหลับบางกลุ่ม ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การนอนกรนไม่ใช่เรื่องเล็กๆเสมอไป เพราะอาจเป็นอาการของโรคร้าย “โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” และควรพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจเพื่อรับการรักษาต่อไป คนที่ได้รับการรักษาส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น โรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็จะดีขึ้นด้วย และที่สำคัญคนนอนร่วมห้องก็สามารถมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

อ้างจาก

หนังสือ Update in Practical E.N.T. 13rd Department of Otolaryngology, Head&Neck Surgery, Faculty of Medicine, Chiang Mai University 2012 บท"นอนกรนอันตรายจริงหรือไม่" หน้า 9-16 อ พญ นฤชา จิรกาลวสาน