โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ “การนอนไม่หลับ” เป็นภาวะที่บั่นทอนสุขภาพของคนเรา และส่งผลกระทบทั้งการเรียน การทำงาน รวมถึงคุณภาพชีวิต การนอนไม่หลับเกิดจากหลายสาเหตุ หลายคนนอกจากประสบปัญหาการนอนไม่หลับแล้ว ยังมีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอันเนื่องมาจากการอุดกั้นอีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ลูกนอนไม่หลับ ครอบครัวเป็นทุกข์

การนอนหลับเป็นสิ่งที่สำคัญ หากลูกหลับได้ดี จะตื่นขึ้นมาพร้อมรอยยิ้ม และอารมณ์ดี มีความสุขและความกระฉับกระเฉง ร่าเริง หากลูกนอนหลับไม่ดี สามารถทำให้ชีวิตของทั้งครอบครัวตกลงไปอยู่ในฝันร้าย เด็กที่อดนอน จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการและพฤติกรรม และทำให้พ่อแม่และสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ประสบความเครียดที่ไม่จำเป็นไม่ว่าลูกจะนอนคนเดียว, นอนร่วมห้อง หรือร่วมเตียง กับพี่น้อง หรือพ่อแม่ การสร้างรูปแบบที่ส่งเสริมการนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ การตระหนักถึงปัญหาในการนอนหลับของลูกถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการแก้ไข

การนอนหลับของเด็กเป็นเรื่องที่ทำให้พ่อแม่สับสน คุณอาจไม่ทราบว่า ลูกของคุณควรนอนวันละกี่ชั่วโมงกันแน่ ความจริงแล้ว เด็กสามารถเรียนรู้ที่จะนอนหลับอย่างน้อยเก้าชั่วโมงรวดในเวลากลางคืน ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 6 เดือน  แม้ว่าจำนวนชั่วโมงการนอนหลับของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกัน อาจสั้นหรือยาวกว่าคนอื่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถหลับได้ตลอดคืน หากลูกหลานของคุณมีปัญหากับการนอนหลับ คุณควรจะตระหนักถึงและหาทางพูดคุยปัญหานี้กับกุมารแพทย์ของลูก หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณระบุปัญหาการนอนหลับของลูกได้ และสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ในเบื้องต้น

สัญญาณที่แสดงว่าลูกของคุณกำลังมีปัญหาด้านการนอนหลับ

  • คุณใช้เวลามากเกินไป "ช่วย" ให้ลูกของคุณนอนหลับ
  • ลูกจะตื่นขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งคืน
  • การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของลูก
  • คุณอดนอน เนื่องจากปัญหาด้านการนอนหลับของลูก

การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพของลูก อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคุณกับลูกประสบปัญหา ปัญหาการนอนหลับที่พบในเด็กมักสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่มีการระบุปัญหา โดยปกติคำแนะนำและสามัญสำนึกเล็กๆน้อยๆ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว บางครั้งการพูดคุยกับผู้ปกครองอื่น ๆ หรือกับกุมารแพทย์ของลูก ก็จะให้เคล็ดลับที่มีประโยชน์ และบางครั้งการขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ ก็เป็นสิ่งที่ดี ปัญหาการนอนหลับที่พบในเด็กส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ ถ้ามองเห็นปัญหา และรีบแก้ไข

การสร้างกิจวัตรก่อนนอน

การส่งลูกเข้านอนที่เตียง อาจทำให้ลูกรู้สึกกังวลที่ต้องแยกจากคุณ (และทำให้คุณเองกังวลที่ต้องแยกจากลูก) พ่อแม่มักอยากให้ลูกไม่รู้สึกกังวล การสร้างกิจวัตรก่อนนอน เป็นหนึ่งในวิธีดีที่สุด

สำหรับคุณและลูก ที่จะใช้เวลาร่วมกัน เมื่อคุณสร้างกิจวัตรก่อนนอน สิ่งสำคัญคือการตั้งเวลาประมาณ 10 ถึง 30 นาทีในการทำอะไรที่เป็นพิเศษกับลูกของคุณก่อนที่ลูกจะนอน กิจกรรมไม่ควรน่าตื่นเต้นเกินไป (หลีกเลี่ยงการกระโดดโลดเต้น วิ่งไล่จับ หรือมวยปล้ำ) หรือเล่าเรื่องที่อาจทำให้ลูกกลัว ลูกต้องทราบกฎของเวลาพิเศษนี้ ว่าคุณไม่ใช้เวลาเกินจากนั้น แม้ลูกจะต่อรอง ร้องขอให้คุณพาไปดื่มน้ำ หรือเล่านิทานเพิ่มอีกสักเรื่อง ก็ไม่ควรโอนอ่อน เพื่อทำให้ลูกรู้จักเวลา หากไม่มีการสร้างกิจวัตรก่อนนอน ช่วงหัวค่ำก็มีแนวโน้มที่จะเต็มไปด้วยความตึงเครียดวิตกกังวลและการโต้เถียง

ปัญหาการนอนหลับที่พบบ่อยในเด็ก

1.1          การนอนหลับต่อเองไม่ได้ (Sleep onset association)

โดยธรรมชาติ คนเรามักตื่นขึ้นมาหลายครั้ง เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงกลางคืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการนอนหลับฝัน (REM sleep หรือการหลับช่วงที่มีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว) เรามักไม่รู้ตัว และสามารถกลับไปนอนต่อได้อย่างรวดเร็ว แต่เด็กเล็ก ตอบสนองต่อการตื่นนี้แตกต่างออกไป เด็กมักร้องไห้หรือรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อตื่น พ่อแม่มักพยายามที่จะปลอบโยนเด็กที่กำลังกังวลและร้องขอความสนใจ มักรู้สึกว่าจำเป็นต้อง "ช่วย" ลูกให้สามารถกลับไปนอนต่อ โดยการให้อาหาร, อุ้มกล่อม, ตบก้น, กอด หรือนอนลงไปข้างๆลูก แต่การทำเช่นบ่อยครั้ง เป็นการทำให้ลูกเรียนรู้โดยอัตโนมัติว่า การ "ช่วย" จำเป็นต้องเกิดขึ้น ทำให้เด็กที่ได้รับการช่วยเช่นนี้ กลายเป็นไม่สามารถที่จะหลับไปโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่  แทนที่จะเรียนรู้เพื่อจะสามารถกล่อมตัวเองให้หลับ หรือเชื่อมโยงความอบอุ่นปลอดภัยกับ สิ่งของที่อยู่ในเปลหรือในเตียง เช่น ผ้าห่มที่เด็กชอบหรือตุ๊กตาสัตว์นิ่มๆ

 ถ้าข้อความด้านล่างนี้ ตรงกับลูกของคุณ แสดงว่า ลูกอาจจะประสบกับปัญหาการนอนหลับต่อเองไม่ได้

"ฉันเหนื่อย ฉันต้องตบก้นลูก เพื่อให้หลับทุกคืน และทุกการนอนกลางวันด้วย ถ้าเธอตื่นขึ้นมาในช่วงกลางคืนเธอจะไม่หลับอีกเลยจนกระทั่งฉันตบก้นของเธออีกครั้ง. "

เด็กคนนี้อาจจะเป็นเชื่อมต่อการกระทำของการนอนหลับกับสิ่งอื่น (เช่นถูกตบก้น, ป้อนนม และ / หรืออุ้มกล่อมในขณะนอนหลับ) เมื่อการกระทำดังกล่าวขาดหายไป เด็กจะไม่สามารถหลับ

"สถานที่เดียวที่ลูกสามารถหลับได้คือในรถ ผมต้องขับรถไปรอบเมืองหลังลูกหลับไป เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงเพราะถ้าพาลูกเข้าบ้านก่อนนั้น เขาจะหลับไม่ได้ "

เมื่อเด็กไม่สามารถนอนในเปลหรือเตียงนอนของตัวเอง แต่สามารถนอนหลับอยู่ในรถที่กำลังเคลื่อนที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ,รถเข็นเด็ก หรือ เปลไกว แสดงว่า เด็กได้เชื่อมโยงการนอนหลับ กับการเคลื่อนไหวเสียแล้ว

จะสามารถแก้ไขการนอนหลับของลูกได้อย่างไร

ประการแรก พ่อแม่ควรทราบว่าทารกสามารถเรียนรู้ที่จะนอนหลับได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเด็กเชื่อมโยงการนอนหลับกับการโยกตัว หรือการอุ้มกล่อมแล้ว ก็จะไม่สามารถนอนหลับได้ด้วยตัวเอง แล้วก็จะร้องไห้เมื่อตื่น ซึ่งถ้าทุกครั้งที่ตื่น แล้วพ่อแม่อุ้มกล่อม จนในที่สุดก็หลับไปในอ้อมแขนของพ่อแม่ ความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นแล้วก็จะมีมากขึ้นอีก และนั่นทำให้เด็กยิ่งไม่สามารถหลับได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้พ่อแม่เครียด เพราะถึงแม้พ่อแม่จะอยากทำให้ลูกรู้สึกสบายใจ แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็จำเป็นต้องหลับ เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ควรให้โอกาสลูกเรียนรู้ที่จะหลับได้ตามลำพัง

การให้ลูกหลับได้ด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นการเพิกเฉยต่อลูกหรือเป็นการทอดทิ้งลูก ลูกควรจะไม่หิว ไม่รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบาย หรือผ้าอ้อมเปียก

การแก้ปัญหา ต้องฝึกทั้งตอนนอนกลางวัน เข้านอนกลางคืนหรือหลังตื่นขึ้นมากลางดึก ด้วยการสร้างความเชื่อมโยง ที่ไม่ต้องอาศัยการตอบสนองจากพ่อแม่ อาจจะเริ่มฝึกจากการเข้านอนตอนกลางคืนก่อน หรือจากการเข้านอนกลางวันก็ได้

ระหว่างการฝึกนอน ในช่วงแรกเด็กจะร้องไห้ พ่อแม่จะต้องระลึกไว้ว่า ไม่ได้กำลังทอดทิ้งลูกอยู่ ด้วยการให้กำลังใจ และสร้างความมั่นใจ ลูกจะสามารถหลับได้ด้วยตนเอง หากเลือกใช้จุกหลอกในการช่วยกล่อมลูก พึงระลึกไว้ว่า การเชื่อมโยงลูกกับวัตถุสิ่งของเพื่อช่วยให้นอนหลับ เป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำตั้งแต่ลูกอายุหลังหกเดือนแล้ว เนื่องจากเมื่อลูกหลับ จุกหลอกก็จะหลุดจากปาก พ่อแม่จะต้องคอยตื่นใส่จุกหลอกเข้าปากให้ใหม่ซ้ำๆ การใช้ผ้าห่ม หรือตุ๊กตาสัตว์น่าจะดีกว่า เพราะเมื่อเด็กตื่นขึ้นมา และเห็นตุ๊กตาอยู่ในเตียงตลอดเวลา ก็จะสามารถหลับต่อได้

เทคนิคที่ดี

เทคนิคนี้ จะช่วยให้เด็กอายุตั้งแต่หกเดือน ถึงสามปีสามารถหลับได้ด้วยตนเอง ควรให้เด็กนอนอยู่บนเตียงเมื่อเริ่มง่วงนอน แต่ยังตื่น หลังจากการทำกิจวัตรก่อนนอนแล้ว พูดราตรีสวัสดิ์กับลูก แล้วออกจากห้องไป ให้มีแสงลอดเข้ามาในห้องนอนได้เล็กน้อย แต่ถ้าสองนาทีผ่านไปลูกยังคงร้องไห้ ก็ให้กลับเข้ามาในห้อง อย่าเปิดไฟ หรืออุ้มลูกออกจากเตียง อย่ากอด อย่าทำตามคำขอร้องใหม่ๆ เช่น ขอน้ำกิน ขอนิทานอีกเรื่อง หรือขอให้คุณนอนลงข้างๆเค้า ให้คุณปลอบลูก  ด้วยคำพูด หรือวางมือบนหลัง เพื่อให้เค้าอุ่นใจ พอลูกสงบลง ก็ให้เดินออกจากห้องอีกครั้ง อย่าอยู่ในห้องเกินสองนาที

ถ้าลูกยังคงร้องไห้อยู่ ให้รอนานขึ้นกว่าครั้งแรก แล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่ พยายามใจแข็ง เพราะเสียงร้องของลูกอาจจะบาดใจ อันที่จริงขั้นตอนนี้มักทรมานใจพ่อแม่มากกว่าลูกมาก พ่อแม่จึงต้องคอยระลึกไว้ว่า จะต้องฝึกให้ลูกสามารถนอนได้ด้วยตนเอง โดยพยายามไม่ให้ลูกลุกออกจากเปลหรือเตียงเป็นอันขาด

เมื่อปฏิบัติตามรูปแบบนี้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ โดยทั่วไปจะเห็นหลังสามคืนแรก แต่หากไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเลย ภายในเวลาห้าวัน ต้องกลับมาทบทวนว่า ได้ปฏิบัติถูกต้องดังคำแนะนำเบื้องต้นหรือไม่ หรือพ่อแม่อาจต้องอดทนมากขึ้นอีกนิด เพราะเด็กบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่า เพื่อปรับตัวเองให้นอนหลับได้ สิ่งที่มักทำให้เทคนิคนี้ล้มเหลว ก็คือความกังวลใจของพ่อแม่เอง เพราะโดยมาก พ่อแม่จะทนฟังเสียงลูกร้องไม่ได้ และจะพยายามเข้าไปกล่อม ตบก้น ปลอบโยน หรือให้จุกหลอก ซึ่งมีแต่จะทำให้เด็กนอนหลับเองได้ช้าลง

เทคนิคสำหรับเด็กโต

Desensitization บางครั้ง เด็กโตมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ เป็นเพราะรู้สึกหวาดกลัว ถ้าคุณต้องเคยนอนลงข้างๆลูก เพื่อทำให้ลูกสามารถหลับได้ และคิดว่าถึงเวลาที่ลูกจะสามารถหลับด้วยตัวเองแล้ว อาจจะลองใช้เทคนิค desensitization ซึ่งก็ควรจะใช้สำหรับการนอนในทุกๆช่วงเวลา รวมทั้งนอนกลางวันด้วย

โดยให้อธิบายลูก ว่าคุณจะนั่งอยู่ที่เก้าอี้ข้างๆเตียงของลูก (แทนที่จะนอนบนเตียงหรือนอนข้างๆ) จนกว่าลูกจะหลับ หลังจากที่ลูกสามารถหลับได้โดยที่คุณนั่งอยู่ที่เก้าอี้ข้างๆ ให้ลองขยับเก้าอี้ไปไว้ไกลจากเตียงนอน และใกล้ๆ ไปทางประตูห้องนอนคืนละนิด คืนละหน่อย จนกระทั่งขยับเก้าอี้ไปไว้นอกห้องนอน ถ้าลูกเป็นเด็กที่ไม่เดินออกจากห้องนอนหลังเวลาเข้านอน ให้เปิดประตูห้องเอาไว้ก็ได้ แต่ถ้าลูกชอบเดินออกจากห้องนอน การปิดประตูไว้ก็ดีกว่า วิธีนี้อาจใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของลูกด้วย ในเด็กโต การให้รางวัลหรือคำชมเชย จะกระตุ้นให้ลูกเกิดการเรียนรู้ที่ไวขึ้น ทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

1.2          การกิน/ดื่ม มากผิดปกติตอนกลางคืน (Nighttime eating/ drinking disorder)

“ลูกร้องกินนมทั้งคืน พ่อแม่ไม่ได้นอนเลย “

ข้อความข้างบน เป็นสัญญาณของการกินดื่มมากผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งเป็นปัญหาในเด็กทารกและเด็กเล็ก “กินมากผิดปกติ” หมายถึง เด็กอายุ 2-3 เดือน ไม่ควรตื่นมากินนมเกิน 2-3 มื้อ ในระหว่างนอน แต่หากเด็กอายุเกิน 6 เดือน ไม่ควรตื่นมากินนมเลยในช่วงกลางคืน

เด็กที่หิวกลางดึก จะตื่นบ่อย และไม่สามารถหลับลงไปได้เอง โดยไม่ได้ป้อนนม เด็กที่คุ้นเคยกับการได้กินนมคืนละหลายๆครั้ง จะยิ่งหิวง่าย ทั้งๆที่ไม่ได้ขาดแคลนอาหารอะไร งานของพ่อแม่ คือสอนให้เด็กหิวในเวลาที่เหมาะสม

เด็กอายุหกเดือนขึ้นไป มักไม่ต้องการนมหรือน้ำมากกว่า 8 ออนซ์ต่อคืน ระหว่างนอนหลับ วิธีง่ายๆ ที่ใช้ดูว่าลูกกินนมหรือน้ำมากเกินไปหรือไม่ คือดูจากผ้าอ้อม หากผ้าอ้อมลูกชุ่มจนต้องตื่นขึ้นกลางดึก นั่นหมายความว่าลูกกิน/ดื่มมากผิดปกติแล้วๆ

การแก้ไข ทำได้โดย ค่อยๆ ลดจำนวนมื้อ และเพิ่มระยะเวลาระหว่างมื้อให้นานขึ้น แบบค่อยเป็นค่อยไป จะได้ผลดีกว่างดแบบปุบปับ ถ้าทารกเคยกินนมทุกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ในคืนแรก พ่อแม่ควรรอให้ถึงสองชั่วโมงก่อน จึงจะป้อนนม และเพิ่มเวลาเป็นสองชั่วโมงครึ่ง ในคืนถัดไป เพิ่มเวลาระหว่างมื้อให้ห่างลงเรื่อยๆ จนกระทั่งทั้งคืนเด็กไม่ร้องขอนม วิธีนี้อาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ถ้าลูกดูดนมขวด คุณอาจลองค่อยๆ ลดปริมาณนมในแต่ละขวดลงคืนละ 1 ออนซ์ด้วย

1.3          ไม่ยอมเข้านอน (Limit-setting problems)

เมื่อลูกอายุประมาณสองปี อาจเริ่มมีปัญหา เริ่มอิดออก ไม่ยอมเข้านอน ไม่ยอมให้คุณออกจากห้องนอน แปลว่าลูกน่าจะมีปัญหาเรื่อง limit setting ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นตอนกลางคืน หรือในช่วงนอนกลางวันก็ได้

พ่อแม่ จะต้องทำให้เด็กทราบ ว่าเวลาใด คือเวลานอน และให้เด็กเข้าใจว่า เมื่อถึงเวลานอน ก็ต้องเข้านอน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ง่วง และยังไม่อยากนอน ก็ต้องเข้านอน เด็กๆ จะมีวิธีต่อรองที่แสนฉลาด เช่น ขอกอดแม่อีกทีก่อน ขอน้ำอีกซักแก้ว ขอนิทานอีกเรื่อง ขอพ่อแม่พาไปเข้าห้องน้ำอีกหน และมันยากที่จะทราบได้ว่า ลูกต้องการสิ่งที่กำลังร้องขอจริงๆ หรือแค่ต้องการนอนดึกอีกหน่อย พ่อแม่จึงจำเป็นต้องหนักแน่น  ไม่ใจอ่อน กับการขอของลูกน้อย

ส่วนในเด็กที่โตขึ้น ไม่ได้หลับในเปลที่มีกรงกั้น อาจมีปัญหาว่า ลูกจะลุกขึ้นออกจากเตียงเอง ในกรณีนี้ อาจต้องเพิ่มรั้วกั้นห้องนอน เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะไม่สามารถเดินออกไปนอนห้องนอนได้ และให้ลูกรู้ว่า จะเอารั้วออก ก็ต่อเมื่อลูกไม่พยายามเดินออกนอกห้องนอน เด็กบางคนเรียนรู้ที่จะปีนรั้ว ก็อาจต้องเพิ่มรั้วเป็นหลายๆ ชั้น หรือปิดประตูห้องนอนเลย ถ้าลูกร้องไห้ พยายามอย่าเข้าไปในห้องเพื่อปลอบใจ เพราะจะทำให้ลูกมีโอกาสต่อรองเพิ่มขึ้น และนอนดึกกว่าเดิม แต่ให้มายืนอยู่อีกฝั่งของรั้วเป็นพักๆ  และปลอบโยนลูกด้วยวาจาที่อ่อนโยน ซึ่งระยะห่างของเวลาที่จะมายืนปลอบ ควรจะห่างลงเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ในช่วงที่เป็นระยะห่าง ก็ควรจะเดินออกไปให้พ้นสายตาของลูก ในช่วงแรก เด็กอาจจะต่อต้าน และหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน ที่ตรงหน้ารั้วนั่นเอง แต่เด็กจะเรียนรู้และยอมเข้านอนดีๆ ในที่สุด

ถ้าเด็กโตเกินรั้วจะกั้น ให้ใช้วิธีเตือนว่า ถ้าไม่เข้านอนดีๆ พ่อแม่จำเป็นจะต้องปิดประตูห้องนอน ถ้าจำเป็นต้องใช้วิธีปิดประตูให้ลูกอยู่ในห้องคนเดียว ระยะห่างในการเข้าไปปลอบโยนลูก ควรจะสั้นกว่าวิธีใช้รั้วกั้น เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว เพราะเป้าหมายของวิธีเหล่านี้ คือสอนลูกให้เข้านอนตรงเวลา ไม่ใช่ขู่ให้ลูกกลัว

พ่อแม่จะต้องหนักแน่นในเรื่องของการกำหนดเวลานอน ทั้งเวลานอนกลางวัน และตอนกลางคืน การใช้รั้วกั้น จะใช้เฉพาะกรณีที่ลูกชอบลุกออกจากเตียงนอนเท่านั้น แต่ถ้าลูกทำได้ดี การให้คำชม หรือรางวัล ก็สามารถช่วยทำให้ลูกเข้านอนดีขึ้น และสำคัญว่าวิธีนี้ผู้เลี้ยงดูเด็กคนอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนๆกัน จึงจะทำให้กิจวัตรการนอนของเด็ก มีความสม่ำเสมอ

สรุปแนวทางเพื่อช่วยให้ลูกนอนได้ดี

  1. กำหนดกิจวัตรการนอนหลับให้สม่ำเสมอ
  2. ให้มีบรรยากาศผ่อนคลายในช่วงก่อนนอน
  3. ไม่ใช้การดูโทรทัศน์ หรือสื่อเคลื่อนไหว แทนการพูดคุย หรือเล่านิทาน ในช่วงก่อนนอน
  4. กำหนดรายการโทรทัศน์ สื่อเคลื่อนไหว หรือเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่เหมาะสมกับอายุของเด็ก
  5. หลีกเลี่ยงการให้ลูกหลับไปพร้อมกับขวดนม หรือการอุ้มกล่อม
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีส่วนผสมของคาเฟอีน หรือสารกระตุ้นอื่นๆ  ในช่วงก่อนนอน

และพ่อแม่ต้องเข้าใจว่า ปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นในเด็กส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่อย่างใด และก็ไม่ได้แปลว่าเด็กมีความผิดปกติทางจิต หรือทางกายแต่อย่างใดด้วย หากได้ทำตามคำแนะนำแล้ว ยังพบว่าลูกมีปัญหาการนอนหลับ หรือยังมีข้อสงสัย นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้อ่านมาทั้งหมด ให้ปรึกษากุมารแพทย์ประจำตัวของลูกได้เลย

จำไว้ว่า เด็กที่นอนหลับได้ดี จะสามารถผล็อยหลับได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และแทบไม่ตื่นขึ้นกลางดึก และจะเป็นเด็กที่มีแต่ความร่าเริง  และเมื่อเด็กหลับได้ดีมากขึ้น ความสุขของทั้งครอบครัวก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)