โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ “การนอนไม่หลับ” เป็นภาวะที่บั่นทอนสุขภาพของคนเรา และส่งผลกระทบทั้งการเรียน การทำงาน รวมถึงคุณภาพชีวิต การนอนไม่หลับเกิดจากหลายสาเหตุ หลายคนนอกจากประสบปัญหาการนอนไม่หลับแล้ว ยังมีอาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอันเนื่องมาจากการอุดกั้นอีกด้วย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ (Drowsy driving )

ความง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะนั้นดูเหมือนไม่ใช่เป็นปัญหาที่สำคํญ แต่แท้ที่จริงแล้วการเผลอหลับขณะขับขี่ยานพาหนะหรือการขับออกนอกเส้นจราจรนั้นก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้อื่นมากมายในแต่ละปี ในปัจจุบัน ภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ มีความสำคัญเทียบเท่าการขับขี่ยานพาหนะขณะเมาสุรา เพราะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินได้รุนแรงเช่นเดียวกัน

ภาวะง่วงนอนเกิดจากอะไร

ร่างกายของคนเราต้องการปัจจัยพื้นฐานสามประการ ได้แก่ น้ำ อาหาร และการนอนหลับ ท่านอาจเลือกที่จะไม่ดื่มน้ำหรือทานอาหารจนกระทั่งท่านเสียชีวิต ในส่วนภาวะที่ร่างกายต้องการการนอนหลับพักผ่อนนั้น ท่านอาจพยายามฝืนที่จะไม่นอนหลับแต่อย่างไรก็ตาม สมองจะสั่งการให้ร่างกายท่านหลับ โดยไม่คำนึงว่าในขณะนั้นท่านกำลังทำอะไรอยู่

มีหลายปัจจัยที่ควบคุมการเกิดภาวะง่วงนอน เช่น

  1. นาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่าน นาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่านนั้นจะส่งสัญญาณทำให้ท่านเกิดภาวะง่วงนอนสองช่วงเวลาในหนึ่งวัน โดยครั้งแรกจะเป็นช่วงค่ำที่ท่านจะเข้านอน ส่วนครั้งที่สองจะเกิดซ้ำในอีก 12 ชั่วโมงถัดไป หรือช่วงบ่ายนั่นเอง
  2. ช่วงเวลากลางวันและช่วงเวลากลางคืน ก็มีผลต่อนาฬิกาชีวิตที่ควบคุมอยู่ภายในร่างกายท่านเช่นกัน
  3. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ท่านตื่นนานเท่าไร ยิ่งส่งผลให้เกิดความง่วงนอนมากเท่านั้น (ช่วงเวลาที่ร่างกายท่านตื่นนานเท่าไร ช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการการนอนหลับพักผ่อนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น)

ถึงแม้ว่าในแต่ละบุคคล ความต้องการและรูปแบบในการนอนหลับพักผ่อนจะแตกต่างกันออกไป คนส่วนใหญ่มักต้องการเวลานอนโดยเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน โดยสามารถสังเกตได้จากถ้าวันพักผ่อนที่ท่านไม่ต้องทำงาน แล้วท่านตื่นสายกว่าวันทำงานอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นเป็น จะเป็นการบอกว่าจำนวนชั่วโมงนอนของท่านในช่วงวันทำงานนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายต้องพยายามนอนชดเชยในวันที่สามารถทำได้ถ้าท่านนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ผลกระทบก็คือการอดนอน การอดนอนจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนชั่วโมงที่ท่านนอนหลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และจะส่งผลกระทบต่อภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจได้มากขึ้น

การมีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี หรือการอดนอน ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะง่วงนอน ลดความตื่นตัว และทำให้ความสามารถในการตัดสินใจลดดลง นอกจากนี้ ท่านอาจรู้สึกมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ลดลง หรือมีความจำที่ลดลง โดยในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ที่มีภาวะง่วงนอน บางครั้งก็ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีอาการเหล่านี้อยู่ นั่นยิ่งทำให้ภาวะง่วงนอนก่อให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น

ผลกระทบของภาวะง่วงนอนคล้ายคลึงกับภาวะเมาสุรา ในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ระดับแอลกอฮอลล์ในเลือด(Blood Alcohol Concentration: BAC) ไม่เกิน 0.08  มีงานวิจัยในปี พ.ศ. 2520 พบว่า การตื่นเป็นเวลานาน 18 ชั่วโมงส่งผลให้สมรรถภาพของร่างกายลดลงเทียบเท่ากับระดับ BAC ที่ 0.05 แต่เมื่อเวลาของตื่นเพิ่มเป็น 24 ชั่วโมง สมรรถภาพของร่างกายลดลงเทียบเท่ากับระดับ BAC ที่ 0.10 ดังนั้นถึงแม้ท่านจะอดนอนเพียงแค่ 1 ถึง 2 ชั่วโมงต่อคืน ภาวะง่วงนอนจะส่งผลความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลงในอัตราที่สูงกว่าระดับแอลกอฮอลล์ในเลือดที่กำหนดตามกฎหมาย

ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีงานวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงของการนอนพบว่า 64% นอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อคืน และ 32% นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน ไม่ว่าท่านจะเคยมีภาวะง่วงนอนมากเพียงแค่ครั้งเดียว หรือมีภาวะง่วงนอนตลอดเวลาก็ตาม ผลที่ตามอาจถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะง่วงนอนพบได้บ่อยแค่ไหน

ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าภาวะง่วงนอนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้ถึงประมาณ 100,000 ครั้งต่อปี โดยมีผู้บาดเจ็บ 76,000 ราย เสียชีวิต 1,500 ราย คิดเป็น 1-3% ของรายงานการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคิดเป็น 4% ของอัตราตายทั้งหมด

นอกจากนั้น พบว่า ภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะยังพบในอัตราที่สูง โดยจากการสำรวจพบว่า มีถึง 55% ที่เคยมีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะในปีทีผ่านมา  23% เคยหลับในขณะขับขี่ยานพาหนะแต่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ  3% เคยหลับในขณะขับขี่ยานพาหนะและเกิดอุบัติเหตุ  2% เกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่ยานพาหนะเนื่องจากมีภาวะง่วงนอน

แต่เป็นการยากที่จะระบุว่า ภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะยังไม่มีเครื่องมือทดสอบใดที่จะสามารถบ่งบอกได้ถึงภาวะง่วงนอน (ต่างกับเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอลล์ทางลมหายใจที่สามารถตรวจวัดระดับแอลกอฮอลล์ในเลือดได้) นอกจากนี้ โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่จราจรยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ จึงมักพุ่งหาสาเหตไปที่การขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดและเมาสุราขณะขับรถแทน

การเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักไม่มีพยานที่จะสามารถบอกได้ว่า คนขับรถมีภาวะง่วงนอนก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นและคนขับรถเองส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตนเองมีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะก่อนที่จะเผลอหลับ ในความเป็นจริงแล้ว คนขับรถมักจะตื่นตัวมากกว่าปกติหลังเกิดอุบัติเหตุ จึงทำให้ไม่สามารถบอกถึงภาวะง่วงนอนที่แท้จริงได้ หรือกรณีภาวะง่วงนอนเกิดร่วมกันกับภาวะเมาสุรา  ภาวะเมาสุรามักถูกคิดถึงเป็นสาเหตุเดียวในการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ คนขับรถมักไม่อยากบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าตนเองมีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะจึงต่ำกว่าความเป็นจริง

คนขับรถที่มีภาวะง่วงนอน จึงควรจะทราบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ นอกจากนี้ ภาวะอดนอน ยังถือเป็นปัญหาสำคัญอีกประการ เพราะมักจะถูกมองข้ามไปทั้งที่เป็นภาวะที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน

การเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนมีลักษณะสำคัญอย่างไร

  1. ช่วงเวลาในการเกิด ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ภาวะง่วงนอนมักจะเกิดมากในสองช่วงเวลา ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะได้นอนหลับมาเพียงพอก่อนหรือไม่ จากสถิติพบว่า ช่วงเวลาที่พบการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนได้บ่อยมีสองช่วง ได้แก่ ช่วง 24.00 น. ถึง 8.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และช่วง 13.00 น. ถึง 15.00 น. ดังนั้นถ้าท่านจำเป็นต้องขับขี่ยานพาหนะในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านต้องคอยเฝ้าระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และควรได้รับการนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอมาก่อน
  2. การขับรถคนเดียว มีงานวิจัยหนึ่ง พบว่า 82% ของรายงานการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนนั้นเกี่ยวข้องกับการขับรถคนเดียว เนื่องจากการขับรถคนเดียวไม่มีคนอื่นคอยพูดคุยเพื่อช่วยให้เขาเหล่านั้นมีความตื่นตัวขณะขับรถ ไม่มีใครคอยสังเกตว่าคนขับมีภาวะง่วงนอนหรือไม่ และไม่มีคนอื่นมาช่วยผลัดเปลี่ยนในการขับรถเมื่อผู้ขับเกิดภาวะง่วงนอน
  3. ไม่มีความพยายามในการหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากผู้ขับรถที่มีภาวะง่วงนอน จะหลับตาลงชั่วครู่หนึ่ง ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งในการเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนคือ ผู้ขับจะไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือหลบหลีกการเกิดอุบัติเหตุนั้น ทำให้การเกิดอุบัติเหตุจากภาวะง่วงนอนมีอัตราตายสูง โดยพบถึง 4% ของอัตราตายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด มีสาเหตุมาจากภาวะง่วงนอนนอกจากนี้ผู้ขับรถที่มีภาวะง่วงนอนยังมีทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุลดลงอีกด้วย

คนกลุ่มใดบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

1.  คนขับที่เป็นวัยรุ่นผู้ชาย

มีการศึกษาพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะนั้น 55% เกิดจากคนขับที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และในกลุ่มนี้เป็นเพศชายถึง 75% ซึ่งพบว่าภาวะง่วงนอนที่เกิดขึ้นมักมีสาเหตุจากการนอนดึกหรือการทำงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

2.  คนทำงานเป็นกะ นักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปข้ามทวีปบ่อยๆ หรือคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับนาฬิกาชีวิต

คนทำงานเป็นกะ (โดยเฉพาะกะกลางคืน) ต้องพยายามหลับในช่วงที่ร่างกายต้องการตื่น และต้องทำงาน ในช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการนอนหลับ ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการที่นาฬิกาชีวิตภายในร่างกายและตารางการทำงานและการดำเนินชีวิตไม่สัมพันธ์กัน

นักธุรกิจที่ต้องเดินทางไปข้ามทวีปบ่อยๆ มักมีปัญหาในการปรับตารางการนอนให้เข้ากับเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละทวีป

บุคคลกลุ่มนี้จึงอาจมีคุณภาพการนอนที่ไม่ดีนัก ทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีภาวะอดนอน และอาจเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะได้

3.  คนขับที่มีภาวะนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอสะสมเป็นระยะเวลานาน

บุคคลกลุ่มนี้มักจะนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการและมักจะมีโอกาสที่จะผล็อยหลับได้ง่ายในสถานการณ์ต่างๆ ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะได้เช่นกัน

4.  คนขับที่มีภาวะอดนอน

          เช่น คนที่ทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หรือคนที่ทำงานช่วงกลางวันแล้วเที่ยวกลางคืนต่อ ภาวะอดนอนทิ่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบโดยตรงต่อสมาธิและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในขณะขับขี่ยานพาหนะ มีการศึกษาหนึ่งพบว่า คนที่ตื่นต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 15 ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยง 4 เท่าต่อการเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะและถ้าคนที่ตื่นต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 20ชั่วโมง จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 30เท่าต่อการเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ

5.  คนขับที่มีปัญหาการนอนหลับที่ผิดปกติที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

คนขับรถที่มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น(Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) โรคลมหลับ (narcolepsy) หรือโรคจากการหลับอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะได้เช่นกัน เนื่องจากโรคจากการหลับต่างๆ มักจะทำให้บุคคลเหล่านี้มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี และไม่ได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ และอาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคที่เกิดจากการหลับชนิดต่างๆ คือ ภาวะง่วงนอนผิดปกติในช่วงกลางวัน มีหลายการศึกษาพบว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้นเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 2 ถึง 7 เท่าจากภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคความผิดปกติจากการหลับ ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคความผิดปกติจากการหลับได้

6.  คนขับที่ทานยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน

มียาหลากหลายชนิดที่มีผลทำให้เกิดภาวะง่วงนอนทั้งที่อาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปและตามแพทย์สั่ง ซึ่งยาเหล่านี้ควรมีคำเตือนระบุไว้ที่ฉลากยา ว่ายาเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะง่วงนอนสมาธิและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพื่อให้หลีกเลี่ยงการทานยาเหล่านี้ขณะขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ยากลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แก่ ยานอนหลับ ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีสารเสพติด ยาต้านซึมเศร้า  ยาคลายเครียด ยารักษาความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอบางชนิด และ ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

7.  คนขับที่ดื่มสุรา

          การดื่มสุรานอกจากทำให้ท่านง่วงนอนแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ยานพาหนะได้อีกด้วย และเมื่อผลจากการดื่มสุรา รวมกับภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ ผลที่ตามมายิ่งรุนแรงอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากยิ่งมีผลลดการตื่นตัวของงร่างกายและจิตใจ เพิ่มโอกาสของการขับขี่ยานพาหนะออกนอกเส้นทางมากขึ้น มีการศึกษาเกี่ยวกับการขับเสมือนจริงกับระดับของแอลกอฮอลล์ในเลือดที่ไม่เกินกฎหมายกำหนด พบว่าในผู้ที่ได้นอนพัก 4 ชั่วโมง มีจำนวนของการเกิดความผิดพลาดสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบผู้ที่ได้นอนพัก 8 ชั่วโมง นอกจากนี้การศึกษายังพบว่า ในผู้ที่ได้นอนพัก 4 ชั่วโมงและดื่มเบียร์จำนวน 1 กระป๋องให้ผลกระทบเทียบเท่ากับผู้ที่ได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอและดื่มเบียร์ถึง 6 กระป๋อง

อะไรบ้างที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ

สิ่งที่จะกล่าวดังต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนของสัญญาณที่พบได้บ่อย ที่บ่งบอกว่ามีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ ถ้าท่านมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แสดงว่าท่านอาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ยานพานหนะ

  • ท่านจำเหตุการณ์ขณะขับขี่ยานพาหนะในระยะทางภายในไม่กี่กิโลเมตรที่ผ่านมาไม่ได้
  • ท่านขับขี่ยานพาหนะออกนอกเส้นทางที่กำหนด
  • ท่านมีสมาธิและความสนใจในการขับขี่ยานพาหนะลดลง
  • ท่านพบว่ามีอาการหาวบ่อยขณะที่ขับขี่ยานพาหนะ
  • ท่านขับจี้ติดรถคันหน้าหรือฝ่าไฟแดงโดยไม่รู้ตัว
  • ท่านรู้สึกว่าง่วงนอน และมีความยากลำบากในการที่จะฝืนตัวเองไม่ให้หลับ

เราจะป้องกันภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะได้อย่างไร

  • การปฎิบัติตัวมีสองแนวทางปฎิบัติที่ได้ผลในการป้องกันภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ ได้แก่

1)    การได้รับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในคืนก่อนที่จะขับขี่ยานพาหนะ แต่น่าเสียดาย ที่คนส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงผลกระทบของภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะจนกระทั่งเขาเหล่านั้นมีภาวะง่วงนอนแล้ว อย่างไรก็ตาม การป้องกันเป็นมาตรการที่ดีที่สุด และไม่มีการรักษาใดที่แทนที่การนอนหลับพักผ่อนได้ ดังนั้น สุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ

2)    แนวทางปฎิบัติที่สองในการป้องกันภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ คือ หยุดขับขี่ยานพาหนะและงีบหลับพักผ่อนเมื่อท่านรู้สึกตัวว่าง่วงนอน ไม่ว่าท่านจะเริ่มมีสัญญาณบ่งบอกว่าท่านมีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อท่านมีภาวะง่วงนอน ท่านอาจไม่ตระหนักว่าตัวท่านเองมีภาวะดังกล่าว หรือท่านอาจคิดว่าท่านสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้และพยายามที่จะฝืนขับต่อไปอีก ดังนั้นหากท่านรู้สึกอ่อนเพลียหรือมีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะ เพื่อความปลอดภัยของท่านโปรดหยุดขับก่อนที่ภาวะง่วงนอนของท่านจะไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าท่านคิดว่าท่านยังสามารถขับขี่ยานพาหนะได้ก็ตาม จำไว้ว่า มันยากเกินกว่าที่ผู้ที่มีภาวะง่วงนอนขณะขับขี่ยานพาหนะจะตระหนักถึงความรุนแรงของอันตรายที่อาจได้รับ

นอกจากนี้ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะทุกๆ คน คือ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ รวมทั้งยาที่มีผลทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง หากท่านไม่แน่ใจหรือไม่ทราบว่ายาที่ท่านรับประทานจะมีผลต่อความสามารถในการการขับขี่ยานพาหนะหรือไม่ ท่านสามารถสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยาดังกล่าวได้

  • อุปกรณ์สำหรับกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวขณะขับขี่ยานพาหนะ  หนึ่งในอุปกรณ์ดังกล่าว คือ
  • กลุ่มคนทำงานเป็นกะ หรือผู้ที่ Jet lag  มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การให้ความรู้ความเข้าใจ เช่น การลดจำนวนครั้งในการเปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน ผลัดเปลี่ยนรอบช่วงเวลาแบบไปข้างหน้าแทนที่การเปลี่ยนรอบช่วงเวลาแบบย้อนกลับ จัดช่วงเวลาพักผ่อนอย่างสม่ำเสมอ จัดช่วงเวลาเพื่อการออกกำลังกาย การใช้แสงสว่างในระยะเวลาที่ทำงาน สิ่งเหล่านี้สามารถลดผลกระทบจากการทำงานเป็นกะต่อนาฬิกาชีวิตของบุคคลเหล่านี้ได้
  • ตระหนักถึงโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะง่วงนอน  โดยเฉพาะโรคจากการหลับที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นและ โรคลมหลับ
  • อาการต่างๆ เช่น การกรนเสียงดัง การหายใจเฮือกเหมือนขาดอากาศหายใจขณะนอนหลับ หรือการหยุดหายใจเป็นพักๆ ขณะนอนหลับ   อาการเหล่านี้เป็นอาการที่พบบ่อยในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นโดยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้นมีผลทำให้เกิดการตื่นซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้งขณะที่นอนหลับ (แม้ว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) และตื่นมาไม่สดชื่น เหมือนคนนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ส่วนโรคลมหลับ (

ซึ่งโรคจากการหลับเหล่านี้ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคความผิดปกติจากการหลับ

บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

0